แนวทางการค้นหาฟองสบู่

ในช่วงที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่าฟองสบู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในตลาดคริปโต หรือหุ้นเทคในอเมริกา ที่ราคาหุ้นหรือเหรียญวิ่งขึ้นไปสูงมาก จนสุดท้ายฟองสบู่ก็ต้องแตกออก เพื่อที่ราคาของทรัพย์สินที่เกิดฟองสบู่ จะได้เข้าสู่ภาวะสมดุล หรือสมเหตุสมผล แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าราคาของสินทรัพย์อยู่ในช่วงไหนของฟองสบู่ เพราะในสภาวะที่เกิดฟองสบู่นั้นไม่ได้กินระยะเวลาสั้นๆ แต่กินเวลาที่ยาวพอสมควรที่จะทำให้ราคาสินทรัพย์ขึ้นไปจน ผู้คนไม่คิดว่าจะราคาร่วงลงมาไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหลักๆแล้วระยะเวลาของฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์การลงทุนแบ่งออกเป็น 5 ช่วงหลักๆคือ

1.การลดข้อจำกัด จุดเริ่มต้นของฟองสบู่นั้น เมื่อสินทรัพย์ใดๆ ได้เกิดวิธีการในการลดข้อจำกัดในการเข้าถึง ทำให้ผู้คนสามารถเข้าซื้อและถือครองได้ง่าย หรือมี fund flow มากผิดปกติ ทรัพย์สินนั้นก็จะเริ่มเป็นที่นิยมของผู้คนหรือนักลงทุนทำให้เกิดการบอกต่อๆกัน เหมือนตัวอย่างเช่น crypto currency ที่ผ่านมาการลดข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นจำนวน exchange ที่มีให้เลือกหลายเจ้า การใช้จำนวนเงินน้อยๆก็ สามารถซื้อและถือครองเหรียญต่างๆได้แล้ว การเกิดโอกาสทำกำไรมากกว่าทรัพย์สินตัวอื่นๆ จนทรัพย์สินตัวอื่นๆถูกมองข้ามไปหมด

2.การขยายสินเชื่อ ช่วงถัดมาคือการเป่าลมเข้าไปในฟองให้ใหญ่ขึ้นโดยการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อที่นักลงทุน นักเกร็งกำไรสามารถหากู้ได้ง่ายมาก ตัวอย่างในวิกฤต Subprime ที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และอสังหาที่มีมูลค่าเกินกำลังรายได้ที่ตัวเองจะผ่อนไหว หรือ ใน crypto การใช้ leverage อย่างง่ายได้ของนักเกร็งกำไรรายย่อยซึ่งให้สูงถือ 125 เท่าของเงินลงทุน ทำให้ราคาเหรียญถูกลากขึ้นไปเรื่อยๆ บนการใช้ leverage และการออก product ทางการเงินแบบใหม่ที่มีผลกระทบต่อตลาด

3.การหลงระเริง/เคลิบเคลิ้ม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถือว่าทุกอย่างดูสวยงามไปหมด ทุกคนล้วนเหมือนจะได้กำไรจากการลงทุน และคนที่เข้ามาลงทุนที่หลังก็ยังใส่เม็ดเงินเข้ามาเรื่อยๆ จนทุกคนคิดว่าจะร่ำรวยการการลงทุนในทรัพย์สินตัวที่เกิดฟองสบู่ทั้งที่ความเป็นจริงราคาของทรัพย์สินสูงจนไม่มีเหตุผลในการลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะมีใครคอยคัดค้านหรือเห็นต่างก็จะไม่ยอมรับฟังทั้งสิ้น เป็นช่วงที่คนโลภจะทำการ all in แล้วคิดว่าตัวเองจะร่ำรวยเปลี่ยนชีวิต เป็นช่วงที่เรียกว่ากินระยะเวลานานพอสมควร จนนักลงทุนที่รู้ว่าทรัพย์สินนี้เกิดฟองสบู่ ก็ยังเกิดความลังเลว่าเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่หรือจุดสูงสุดของฟองสบู่

4.ระยะวิกฤต/ภัยพิบัติทางการเงิน เป็นช่วงส่งสัญญาณว่าฟองสบู่เปราะบางเต็มที่มีข่าวร้ายเข้ามากระทบกับ ทรัพย์สินที่เกิดฟองสบู่จนราคาเกิดการย่อตัว แต่ด้วยความเชื่อของมวลชนส่วนใหญ่ยังคงถือครองแม้ว่าจะเริ่มขาดทุนแล้วก็ตาม หากนักลงทุนคนไหนที่พอมีเงินสดก็จะทำการซื้อถั่วเฉลี่ยเพิ่มเข้าไป แล้วถือทรัพย์สินตัวนั้นด้วยเพียงความเชื่อที่ว่าเดียวมันจะกลับตัวทำราคาสูงกว่าต้นทุนที่ตัวเองถือ การสะสมของหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในทรัพย์สินที่เกิดฟองสบู่มีปริมาณมากเกินกว่าจะใช้คืนได้หมด

5.การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เป็นจุดจบช่วงเวลาสั้นๆที่กินเวลาไม่นานอาจจะหลักวันหรือหลักชั่วโมงแล้วแต่จำนวนมวลชนที่เข้าร่วมเกร็งกำไรและลงทุนในทรัพย์สินฟองสบู่ เป็นช่วงที่เกิดปฎิกิริยาลูกโซ่ที่เมื่อมีคนกลัวเงินทุนจะหายไปมากกว่าที่เป็นขายทรัพย์สินออกมา ทำให้ราคาลงไป คนที่ 2 เห็นราคาลงมาก็ขายหนีตามๆกันมา จนเกิดแรงขายเต็มไปหมด ส่วนฝั่งผู้ซื้อก็มีน้อยรายทำให้ราคาเกิดการร่วงลงจนไม่มีให้คาดคิดได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการขายเกิดจากปริมาณการใช้เงินกู้ยืมมาซื้อทรัพย์สินฟองสบู่เกิดปัญหาขึ้นทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่กระทบไปมาจนทำให้เกิดแรงขาย

ซึ่งเมื่อทรัพย์สินใดหลังจากเกิดฟองสบู่แตกแล้วก็จะเกิด 2 แนวทางที่เกิดขึ้นคือราคาลู่เข้าสู่ 0 จนกลายเป็น 0 หรือมีแรงซื้อเข้ามาเป็นระยะแบบเบาบาง จนทุกคนในตลาดต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวพื้นฐานของทรัพย์สินที่เกิดฟองสบู่ที่แตกไปแล้วว่า สุดท้ายว่ามันคือทรัพย์สิน หรือแค่การหลอกลวงเป็นเพียงความฝันที่สวยเหมือนเช่นฟองสบู่กันแน่ หากสุดท้ายคำตอบของคนในตลาดเห็นว่ามันคือทรัพย์สิน ราคามันก็จะเข้าสู่จุดสมดุลที่เหลือผู้เล่นน้อยหลาย แต่เต็มไปด้วยศพของผู้เล่นที่เจ็บตัวจากฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในรอบที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ

หนังสือ พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน (The Little Book of Behavioral Investing)

ภาพถ่ายโดย Pixabay

Leave a Reply

Your email address will not be published.