ว่าด้วยเรื่อง คาถา หัวใจเศรษฐี
กระแส การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น พุทธ พราหมณ์ ผี เป็นที่นิยมมากในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะชาวบ้านทั่วๆไปไม่รู้จะพึ่งใคร สุดท้ายคงต้องไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผมก็ไปสะดุดเข้ากับยันตร์ ที่มีการลงอักษรโบราณ คาดว่าจะเป็นอักษรขอม โดยมีการลงอักษรที่ว่าด้วย คาถา หัวใจเศรษฐี เพื่อให้ผู้ที่บูชาได้ร่ำรวย คาถานี้มีว่า
อุ อา กะ สะ
เพียงสีคำ เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม ทำให้ดูลี้ลับทันที แต่เมื่อผมทำการค้นหาข้อมูลก็พบว่า เป็นตัวย่อ ที่เอาคำต้นของคำสอนในศาสนาพุทธ ว่าด้วยการประกอบอาชีพ เลี้ยงชีพ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคำสอนที่ดี โดย
อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การขยันหา
การขยันหาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การขยันทำมาหากินเท่านั้น แต่รวมถึงการขยันหมั่นเพียรในการหาความรู้ หาข้อมูล หาช่องทางต่างๆ ในการหาเงินด้วย ขอเพียงไม่ขี้เกียจ ตั้งใจทำงาน รู้จักขยันหา ความรู้ หา โอกาส
อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา หมายถึง การขยันเก็บ ไม่สำคัญว่าจะหาได้เท่าไร แต่สำคัญที่รู้จักเก็บ หามาได้มากก็เก็บมาก หาได้น้อยก็เก็บน้อย ไม่ใช่หาได้มากแต่เก็บน้อย ย่อมเป็น เศรษฐี ได้ยาก และอีกอย่างคือต้องรู้จักด้วยว่าจะเก็บอย่างไร เก็บเอาไปลงทุน ขยายกิจการ หรือเก็บในทรัพย์ในที่ปลอดภัย นอกจากเก็บแล้วยังต้องรักษาให้เป็นอีกด้วย
กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา หมายถึง การเลือกคบคนดีเป็นมิตร หากเรารู้จักขยันหา รู้จักเก็บ แต่คบเพื่อนไม่ดี เพื่อนกิน หรือ เพื่อนที่หวังหาผลประโยชน์มาหลอกเรา สิ่งที่หามาย่อมหมดหรือเสียหายได้ ถึงแม้ว่าจะขยันหาความรู้ติดตัว หาคบคนไม่ดี นอกจากเสียทรัพย์แล้วยังนำพาความเดือดร้อนหรือปัญหามาให้เราได้
สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา หมายถึง การใช้ชีวิตอย่างสมฐานะ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง การใช้ชีวิต ในจุดที่พอดีกับรายได้ หรือต่ำกว่ารายได้ที่มีย่อม ดีกว่าการใช้ชีวิตสูงกว่ารายได้ เพราะจะทำให้เป็นหนี้ และไม่มีเก็บ ยากที่จะเป็นเศรษฐี เราควรหาจุดสมดุล ในการใชัชีวิต หรือ เพดานการใช้ชีวิต เพราะ คนเราเมื่อใช้ชีวิตแบบไม่มีสติปัญญา เมื่อ เสพความสุขทางวัถตุมากๆ ทำให้เราอยากได้ของที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยากที่จะเป็นเศรษฐี
เรื่องราวเกี่ยวกับ หัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ตอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเทศน์โปรดกระทาชายนายหนึ่งในสมัยนั้น ชื่อว่า ทีฆชาณุ และทรงสั่งสอนเขาให้เข้าถึงประโยชน์สุขชั้นสามัญ (หรือมนุษยสมบัติ) โดยธรรม ๔ ประการ เรียกว่า “ทีฆชาณุสูตร” จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๙๓๔ – ๖๐๒๕
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะ ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉน คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑ ฯ

เรียกได้ว่าเป็นคำสอนขององค์พระสัมมาพระพุทธเจ้า ที่ทรงให้ไว้กับบุคคลทั่วไปที่ยังมีกิเลส ไม่ได้หวังจะหลุดพ้นจากทางโลก ขอเพียงมีชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่เมื่อผ่านกาลเวลา ตามธรรมชาติของคนเรามักชอบอะไรที่ง่าย จากคำสอนที่ดีก็กลายแปรเปลี่ยนเป็นกุศลโลบาย ให้เราพระอาจารย์ได้แทรกคำสอนเรานี้ลงเป็นอักขระยันตร์ที่เรียกว่า คาถา หัวใจของเศรษฐี หรือ “อุ อา กะ สะ” ให้ลูกศิษย์ไปบูชาเพื่อเพิ่มกำลังใจในการทำมาหากิน แต่ส่วนใหญ่มันจะพบคาถานี้อยู่ในอักขระบนเครื่องรางปลัดขิก ที่จะเห็นได้ตามร้านค้า ส่วนจะเกี่ยวข้องกับ ปลัดขิก ยังไงมาได้รวมกันได้ยังไง ผมยังไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มไว้ถ้าผมรู้จะนำมาเขียนบทความต่อไป
บทสวดคาถานี้ที่นิยมกันก็จะมีดังนี้
อุ อา กะ สะ อา กะ สะ อุ
กะ สะ อุ อา สะ อุ อา กะ
ภาพถ่ายโดย Miguel Á. Padriñán