พบปลาทูไทย ปนเปื้อน “ไมโครพลาสติก”
เป็นอะไรที่น่าตกใจเมื่อ ผลการศึกษา ไมโครพลาสติก ของ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง พบว่า ปลาทูไทย นั้นมีการปนเปื้อนของ ไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอยู่จำนวนมาก โดย ปลาทูที่ทำการศึกษานั้นเก็บตัวอย่างจาก บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง
ผลการศึกษา พบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม (ค่าเฉลี่ย ± SE) ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 ± 0.087 (ค่าเฉลี่ย ± SE) เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

ทั้งหมดนี้มาจากการศึกษา เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851)

ซึ่งหากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในปลาทูพบปริมาณขนาดนี้ มนุษย์ที่รับประทานปลาเข้าไปก็คงมีไมโครพลาสติกสะสมในร่างกายเช่นกัน แล้วมนุษย์เรารับประทานไมโครพลาสติก จากการปนเปื้อนแบบนี้ไปนานเท่าไรแล้ว ?



ซึ่งนอกจากไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลแล้ว ยังพบขยะพลาสติกจำนวนมากตามชายหาดต่างๆ ทั่วภาคใต้ แค่ขุดทรายตามชายหาดมาร่อนก็จะเจอขยะที่เป็นพลาสติกตั้งแต่ชิ้นใหญ่ จนถึงขนาดเล็กจำนวนมากจนน่าตกใจ

ยังไม่มีผลการยืนยันว่า หากมนุษย์เรารับประทานไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายปริมาณมากๆจะส่งผลเสียกับร่างกายอย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ด้วยจำนวนขยะพลาสติกจำนวนมากได้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พลาสติกถูก สัตว์หลายชนิดที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็น พลาสติกไม่สามารถกินเป็นอาหารได้ ทำให้สัตว์เหล่านั้นกินเข้าไปในกระเพราะแล้วไม่สามารถย่อยได้และตายในที่สุด

ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีการ ณรงค์เรื่องการงดใช้ถุงพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วก็ตาม แต่จำนวนพลาสติกที่ลดลงปริมาณก็เทียบไม่ได้กับจำนวนขยะพลาติกที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันได้ เพราะอะไรนะหรอ เพราะ มนุษย์เราชอบความสะดวก เพราะการนำภาชนะหรือถุงผ้าที่ใช้แทนพลาสติก ไปใช้งานจริงนั้นคงไม่ได้เต็มที 100 %

คงต้องมาดูกันว่าในวันที่ พลาสติกถูกย้อนกลับมาเล่นงานมนุษย์เช่นทุกวันนี้ ในรูปแบบไมโครพลาสติก มนุษย์จะสามารถคิดค้นวัสดุที่ใช้แทนพลาสติกแต่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะนั้นคือหนทางที่ตอบโจทย์นิสัยของมนุษย์ได้ดีที่สุด